Science of Love วิทยาศาสตร์แห่งรัก
ความรักอาจไม่ใช่สิ่งที่คุณเคยเข้าใจ …
เมื่อไรที่คุณรู้ตัวว่าอยากมีใครสักคน ?
สารเคมีในสมองอะไรกันนะที่หลั่งออกมาเมื่อคุณมีความรัก
และการตกหลุมรักเป็นเพียงวิธีทางตามธรรมชาติ
เพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์เราจริงหรือ ?
..
คำ ๆ นี้เราเรียกมันว่าความรัก มันเป็นความรู้สึกรักใครสักคน มันเป็นอารมณ์ของมนุษย์ที่อยู่ในช่วงเบิกบานใจที่โลกเป็นสีชมพู มันอาจเป็นหนทางอันแสนงดงามที่ธรรมชาติได้วางไว้ เพื่อการอยู่รอดและการสืบเผ่าพันธุ์ของมวลมนุษย์ สมองเป็นผู้ชักนำเราให้ตกหลุมรัก พวกเราจึงพากันเชื่อว่า ถึงเวลาต้องเลือกหาคู่ครองได้แล้ว แต่กระนั้นก็ดี เราทุกคนอาจตกเป็นเหยื่อแห่งความสุข ที่ธรรมชาติได้วางแผนตระเตรียมเรื่องความรักให้เราก็เป็นได้

ความรักอาจไม่ใช่สิ่งที่คุณเคยเข้าใจ …
นักจิตวิทยาได้ชี้ให้เห็นว่า ระหว่าง 90 วินาที ถึง 4 นาที มันเป็นช่วงของการตัดสินใจว่าคุณจะชอบใครสักคนมีการวิจัยแสดงให้เห็นว่า การปิ๊งรักเมื่อแรกพบ จะมีอาการเหล่านี้แสดงออกมา เวลาพูดคุย
- 55% แสดงออกผ่านภาษากาย
- 38% แสดงออกทางน้ำเสียงและความเร็ว เวลาเปล่งคำพูด
- มีเพียง 7% ที่จะพูดออกมาตรง ๆ
3 ขั้นตอนของปรากฏการณ์แห่งรัก
ดร. เฮเลน ฟิชเชอร์ (Helen Fisher) แห่งมหาวิทยาลัยรูทเจอร์ (Rutgers University) แห่งสหรัฐอเมริกาได้เสนอ 3 ขั้นตอนของปรากฏการณ์แห่งรัก ได้แก่
- ความต้องการทางเพศ (lust)
- เสน่ห์ (attraction)
- ความผูกพัน (attachment)
ซึ่งแต่ละขั้นตอนอาจจะถูกขับเคลื่อนด้วย
"ฮอร์โมน" และ "สารเคมี" ที่แตกต่างกันออกไป
ขั้นที่ 1 : ความต้องการทางเพศ (lust)

ขั้นตอนแรกของปฐมบทแห่งรัก ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยฮอร์โมนเพศได้แก่ เทสโทสเตอโรน (testosterone) และ เอสโตรเจน (oestrogen) ทั้งหญิงและชาย เทสโทสเทอโรนเป็นฮอร์โมนที่ไม่ได้พบเฉพาะในผู้ชายเท่านั้น ผู้หญิงก็มีเช่นกัน ดร.ฟิชเชอร์บอกว่า เจ้าฮอร์โมนเพศสองตัวนี้เอง ที่ช่วยควบคุมอาการอยากได้โน่น อยากได้นี่ ของเรา ขั้นตอนนี้ น่าจะเป็นช่วงระหว่าง 90 วินาที ถึง 4 นาที ที่คนจะปิ๊งรักกัน หรืออาการรักแรกพบนั่นเอง
ขั้นที่ 2 : เสน่ห์ (attraction)

ขั้นตอนที่ 2 นี้เป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นตาตื่นใจ เมื่อคุณหลงอยู่ในภวังค์แห่งรักอย่างจัง และในหัวสมองแทบไม่คิดเรื่องอื่นเลย อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ถูกควบคุมโดยกลุ่มสารสื่อประสาทที่เรียกว่า โมโนอะมิเนส (Monoamines) ซึ่งประกอบด้วย อะดรีนาลีน (adrenaline), โดพามีน (dopamine) และ เซโรโทนิน (serotonin)
- โดพามีน (Dopamine) : เป็นสารเคมีที่ช่วยให้สมองตื่นตัว เช่นเดียวกับ นิโคตีน และ โคเคอีน
- นอร์เอพิเนฟรีน (Norepinephrine) : หรือรู้จักกันในนามของ อะดรีนาลิน (Adrenalin) ที่เป็นตัวการทำให้เราเหงื่อแตกและหัวใจเต้นรัวยามตื่นเต้น
- เซโรโทนิน (Serotonin) : หนึ่งในสารสำคัญที่ทำให้เราเกิดอาการ...ซึม..เศร้า..เหงา..เพราะรัก
“บ่อยครั้งที่คู่รักจะแสดงอาการพลุ่งพล่านของ 'โดพามีน'
ด้วยการมีพลังเพิ่มมากขึ้น มีความต้องการนอนหลับและอาหารที่น้อยลง
โดยพวกเขาจะมุ่งสนใจในเรื่องความเอาใจใส่
และเกิดความยินดีปรีดาในความรู้สึกที่สุดแสนละเอียด
พร้อมความสัมพันธ์ดุจดังนวนิยายรักเล่มหนึ่ง”
ขั้นที่ 3 : ความผูกพัน

ไม่มีใครที่จะทำตัวคลั่งรักได้ตลอดชีวิต เมื่อผ่านพ้นไปช่วงเวลาหนึ่ง ถ้าไม่โบกมือลากันไป เสียก่อน คู่รักก็จะฉุดกระชากลากจูงกันเดินมาสู่ช่วงแห่งความผูกพัน ในตอนนี้จะว่าด้วยการตกลงปลงใจที่จะใช้ชีวิตคู่และสร้างครอบครัว ฮอร์โมนสองตัวสำคัญคือ
- ออกซิโทซิน (oxytocin)
- วาโซเพรสซิน (vasopressin)

ออกซีโทซิน (Oxytocin) : จากต่อมไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดการขับน้ำนมและเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างมารดาและทารก โดยมีการพบว่าออกซีโทซินจะถูกขับออกมาเมื่อชายหญิงมีความสัมพันธ์ทางเพศที่ลึกซึ้ง ทฤษฎีบอกไว้ว่ายิ่งชายหญิงมีความสัมพันธ์กันลึกซึ้งแค่ไหน ความผูกพันก็มีมากขึ้นเท่านั้น
วาโซเพรสซิน (Vasopressin) : สาระสำคัญอีกตัวหนึ่งที่เป็นตัวรักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย จะถูกขับออกมาเมื่อร่างกายขาดน้ำ ความตึงเครียดสูง ความดันเลือดสูง หรือเมื่อคู่รักมีความสัมพันธ์ทางเพศ นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งพยายามทำการศึกษาถึงฤทธิ์เดชของวาโซเพรสซิน โดยหลังจากที่พวกเขาได้ฟังตำนานรักของหนูแห่งทุ่งหญ้าแพรรี (Prairie vole) ซึ่งเป็นหนึ่งในร้อยละ 3 ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่จับคู่อยู่กินกันแบบผัวเดียวเมียเดียวตลอดช่วงชีวิต (Monogamous) ที่มีว่า...
"...ถ้าคู่ของพวกมันตาย อีกตัวก็จะตรอมใจตายตามไปในไม่ช้า โดยไม่คิดจะมีใหม่ ด้วยจิตริษยาต่อหนูแห่งทุ่งหญ้าแพรรี่ที่ถือและปฏิบัติตามศีลข้อสาม ห้ามผิดลูกผิดเมียเขาอย่างเคร่งครัด นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ทำการให้ยาที่ลดปฏิกิริยาของวาโซเพรสซินในหนูตัวผู้ ปรากฏว่าหนูตัวผู้ตัวนั้นไม่ถึงกับศีลแตก แต่เริ่มมีอาการเย็นชา ห่างเหินคู่รัก และไม่แสดงอาการหึงหวงเมื่อมีหนูหนุ่มตัวอื่นๆ เข้ามาตีท้ายครัวเลยสักนิด หลังจบปฏิบัติการสร้างความร้าวฉานแล้ว..."
พวกเขาก็ได้ข้อสรุปมาให้ชาวโลกชื่นใจว่า
"...ถ้าขาดวาโซเพรสซินเมื่อไร ก็ให้เตรียมพร้อมรับมือหายนะที่กำลังจะมาสู่ครอบครัวได้เลย..."
สุดท้ายนี้ผู้เชี่ยวชาญได้ให้นิยามของความรักว่า..."ความรักเป็นปฏิกิริยาทางเคมีที่เกิดขึ้นภายในร่างกายเพื่อตอบสนองความต้องการทางพันธุกรรมกับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมไม่ว่ารักจะเป็นอะไรก็ตามในความคิดของคน และแม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะสรรหาข้อเท็จจริงมากมายมาเฉลยปริศนาแห่งรักให้เรารู้ได้ เราก็ต้องเข้าใจอยู่เสมอว่ารักเกี่ยวพันกับสิ่งต่างๆ มากมาย ไม่ใช่แค่วิทยาศาสตร์ แต่ยังรวมถึงปัจจัยทางสังคม วัฒนธรรม รวมทั้งการเรียนรู้ด้วย ความรักเติบโตขึ้นพร้อมๆ กับเรา โดยประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เรารู้จักเลือกที่จะรัก รู้จักหยุดเพื่อที่จะเริ่มใหม่ และรู้จักสร้างเงื่อนไขเพื่อให้ได้มาซึ่งการดำรงพันธุ์ที่เหมาะสม แม้ว่าปริศนาบางอย่างในโลกแห่งรักจะถูกไขกระจ่างโดยนักวิทยาศาสตร์ ก็ไม่ได้หมายความว่าต่อจากนี้ไปเราจะรักกันด้วยเทคโนโลยี การปล่อยให้ความรักดำเนินไปตามครรลองของมันน่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องมากกว่า"